วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

นักข่าวทุ่มสุดตัว นอนตากแดดพิสูจน์ ทานาคา กันแดดได้หรือไม่


          นักข่าวเมียนมาทุ่มสุดตัว นอนตากแดด พิสูจน์ชัด ทานาคา กันแดดได้เท่าครีมกันแดดหรือไม่ เข้ามาดูผลกันเลย 


          
ในขณะที่เราเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ทานาคา ผงสมุนไพรสีเหลือง ที่เรามักเห็นชาวเมียนมาใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น มีคุณสมบัติในการกันแดดได้ แต่เชื่อเลยว่าคงมีคนไม่ใช่น้อยที่ยังสงสัย ว่าทานาคาจะสามารถกันแดดได้จริงหรือไม่ และเมื่อเทียบกับครีมกันแดดแล้ว สิ่งไหนจะมีประสิทธิภาพในการกันแดดมากกว่า

          
เพื่อพิสูจน์ให้เห็นกันชัด ๆ ไปเลย RJ Vogt นักข่าวจากเว็บไซต์เมียนมาไทม์ส จึงได้ขออุทิศตัวทำการทดสอบเพื่อตอบข้อสงสัยนี้กัน โดยจากคอลัมน์ที่เขาได้นำเรื่องดังกล่าวมาบอกเล่าเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ระบุว่า เพื่อการทดลองนี้ เขาได้นำเทปพันสายไฟสีดำมาติดไว้เพื่อแบ่งบริเวณลำตัวออกเป็น 4 ส่วน ก่อนที่จะชโลมทานาคาของแท้ ที่ทำขึ้นเอง ที่ลำตัวส่วนบน ด้านขวา

          
จากนั้นส่วนบนซ้าย เขาก็ได้นำทานาคาที่ซื้อมาในราคาถูก มาชโลมลงให้ทั่ว ก่อนที่จะนำครีมกันแดดจากสหรัฐอเมริกา ทาที่ลำตัวส่วนล่างขวา ขณะที่ลำตัวส่วนล่าง ด้ายซ้าย ไม่ได้ทาครีมป้องกันใด ๆ ทั้งสิ้น

          
ขณะที่ RJ Vogt เผยว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาเป็นคนที่มีผิวขาวมาก สามารถโดนแดดเผาจนตัวแดงภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที แต่เพื่อการทดลองครั้งนี้เขาได้ยอมถอดเสื้อมานอนตากแดดอยู่บริเวณหน้าโบสถ์เซนต์แมรี่ ในย่างกุ้ง ของพม่า เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเต็ม ๆ ท่ามกลางสายตาของผู้คนที่มองมาอย่างกังวล ว่านี่เป็นการประท้วงหรือเขาถูกลงโทษมาหรือไม่

          
และแล้วในที่สุดหลังจาก 1 ชั่วโมงผ่านไป เขาก็ได้พบกับผลลัพธ์ที่ชัดเจน ว่าทานาคาที่ทำขึ้นเองนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันแดดได้ค่อนข้างดี และดียิ่งกว่าทานาคาที่หาซื้อมาทั่วไป แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่สามารถกันแดดได้ดีที่สุด เห็นจะเป็นครีมกันแดด ซึ่งไม่ทำให้เกิดรอยแดงบนผิวของเขาเลย 


          
อนึ่ง เมื่อดูผลจากภาพ มุมบนซ้าย คือทานาคาที่ทำเอง มุมบนขวา คือทานาคาที่ซื้อมา มุมล่างซ้าย คือครีมกันแดด และมุมล่างขวา คือส่วนที่ไม่ทาอะไรเลย 

          
อย่างไรก็ตามแพทย์ผิวหนังจากคลินิกในย่างกุ้ง เผยว่าการทดลองของเขาเป็นเพียงกรณีศึกษาเท่านั้น แต่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นผลกระทบระหว่างทานาคาและโรคมะเร็งผิวหนังได้ เพราะแม้ทานาคาจะช่วยป้องกันการเผาไหม้ที่ผิวได้ แต่การใช้ครีมกันแดดสามารถกันได้ทั้งแดด และความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง 

Cr.http://hilight.kapook.com/view/134199

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น